เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ทีม Chulalongkorn University Rehabilitation Exoskeleton/End Effector system; CUREs โดย รศ.พญ. กฤษณา พิรเวช รศ.นพ.วสุวัฒน์ กิติสมประยูรกุล และ อ.พญ.พิม ตีระจินดา จากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ทีม Chulalongkorn University Rehabilitation Exoskeleton/End Effector system; CUREs โดย รศ.พญ. กฤษณา พิรเวช รศ.นพ.วสุวัฒน์ กิติสมประยูรกุล และ อ.พญ.พิม ตีระจินดา จากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งผลงานหุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Robotic Rehabilitation for Stroke Patients) เข้าร่วมประกวดในโครงการประกวดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ i – MEDBOT Innovation Contest 2021 จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) tCELS กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากผู้เข้าแข่งขันที่เข้ารอบทั้งหมด 7 ทีม นับเป็นความภาคภูมิใจของภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู และคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุดเด่นของหุ่นยนต์ฟื้นฟูคือ หุ่นยนต์สามารถช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ตั้งแต่ช่วงที่ผู้ป่วยยังมีการฟื้นตัวของประสาทสั่งการน้อยในระยะเฉียบพลันจนถึงระยะเรื้อรัง จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกการใช้งานแขนแบบซ้ำ ๆ (repetition) ได้เป็นจำนวนครั้งที่มากกว่าเมื่อเทียบกับการฝึกแบบดั้งเดิม ทำให้เกิดทักษะการใช้งานแปรผันตามจำนวนครั้งที่ฝึก ร่วมกับมีระบบเกม และการให้ข้อมูลตอบกลับ (feedback) ทำให้การฝึกน่าสนใจ สนุก และท้าทาย ลักษณะดังกล่าวช่วยให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อผลิตหุ่นยนต์ฟื้นฟูมอบให้โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ / โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโครงการ Chula Ari ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการสหศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อรองรับสังคมไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย ได้มอบหุ่นยนต์ฟื้นฟูให้กับโรงพยาบาลใหญ่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร อาทิ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา เป็นต้น ผลการประเมินการใช้หุ่นยนต์ฟื้นฟูจากผู้ใช้ (Therapist) และผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ดี – ดีมาก ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการฝึกด้วยหุ่นยนต์อย่างมาก
ปัจจุบันฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีบริการฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์ดังกล่าวที่คลินิกฟื้นฟูผู้สูงอายุก้าวหน้า (Advance Geriatric Rehabilitation Clinic) ที่อาคาร ส.ธ. ชั้น 6 ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อนัดหมายเพื่อมารับการปรึกษากับทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ณ ภปร. ชั้น 2 ตามวัน – เวลาทำการ