งานเวชศาสตร์ฟื้นฟูเริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อศาสตราจารย์ กิตติคุณ นพ. เสก อักษรานุเคราะห์สำเร็จการศึกษา American Board of Physical Medicine and Rehabilitation จาก North Western สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2513 และเริ่มงานสอนนิสิตแพทย์ในปี พ.ศ. 2514 โดยรวมอยู่ในภาควิชาออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนงานบริการผู้ป่วยอยู่ในความรับผิดชอบของแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเริ่มเปิดบริการที่ตึกพาหุรัด ต่อมาได้ย้ายมาที่ตึกเจริญ-สมศรีชั้นล่าง และอาคารโปษยะจินดาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515
เมื่อรศ.พญ.ประไพ พัวพันธ์ รศ.นพ.กระแส สุคนธมาน และรศ.นพ.เยี่ยมมโนภพ บุนนาค สำเร็จการศึกษา American Board of Physical Medicine and Rehabilitation จากอเมริกาและได้กลับมารับราชการที่ คณะแพทยศาสตร์ คณาจารย์ทั้งสี่ท่านจึงเริ่มบุกเบิกงานวิชาการและงานบริการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูให้สมบูรณ์ขึ้น
ใน พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นปีคนพิการสากล สภากาชาดไทยมีดำริที่จะพัฒนางานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการของประเทศตามนโยบายของ International Red Cross จึงได้ก่อตั้งศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูขึ้น ที่สวางคนิวาส จังหวัดสมุทรปราการ และเริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2525 มีศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสน เป็นหัวหน้าศูนย์คนแรก ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยร่วมกับแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาฯ ทำให้งานบริการผู้พิการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความสมบูรณ์และได้มาตรฐานสากล จากความพร้อมด้านคณาจารย์ บุคลากร และสถานที่ให้บริการผู้ป่วย แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ร่วมกับศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู จึงได้ร่วมมือกันจัดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูขึ้น (หลักสูตร “ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู” ในปัจจุบัน) ให้การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่ พ.ศ.2527 เป็นต้นมา
ปี พ.ศ. 2540 ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟูได้แยกออกจากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ และเป็นภาควิชาที่ 21 ของคณะแพทยศาสตร์ โดยมี รศ.นพ.กระแส สุคนธมาน ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเป็นคนแรก ดำเนินงานวิชาการ งานวิจัย บริการวิชาการ ร่วมกับฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.จุฬาลงกรณ์และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย ปูชนียาจารย์ทุกท่านเปรียบเสมือนผู้ให้กำเนิดงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูของจุฬาลงกรณ์ ด้วยความเป็นศาสตร์ใหม่ ท่ามกลางความขาดแคลน ด้านทรัพยากรและสถานที่ อาจารย์ทุกท่านได้อุทิศตนมุ่งมั่นพัฒนา ให้วิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นที่รู้จักในวงการแพทย์และอบรมสั่งสอนศิษย์ทุกคนด้วยความเมตตา ศิษย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจุฬาฯต่างรำลึกถึงพระคุณของอาจารย์ทุกท่าน ด้วยความเคารพรัก และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
อดีตหัวหน้าแผนกฯ
พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2543
อดีตหัวหน้าภาควิชาฯ
พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2543
อดีตหัวหน้าภาควิชาฯ
พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2546
อาจารย์อาวุโส